แชร์

โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder)

อัพเดทล่าสุด: 29 ก.ย. 2024
52 ผู้เข้าชม

โรคแพนิคเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวล หรือตื่นตระหนก มีความกลัว ความอึดอัดไม่สบายอย่างรุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ยังไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายอะไรเลยก็ตาม และช่วงที่ไม่มีอาการแพนิค ผู้ป่วยก็กลัวว่าตัวเองจะเป็นอีก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น และอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันบางอย่างได้ เช่น การขับรถ การทำงาน หรือการขึ้นลิฟต์ เป็นต้น
 
โรคตื่นตระหนก (แพนิค) มีอาการอย่างไร ?
ผู้ป่วยจะมีอาการ Panic attack เกิดขึ้นซ้ำบ่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ได้แก่
1. มีอาการรู้สึกเสียขวัญขึ้นมาแบบกะทันหันโดยไม่คาดคิด เกิดความกลัวอย่างรุนแรง หรือเกิดความรู้สึกที่ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก
2. ใจสั่น ใจเต้นแรง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
3. รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่แล้วเหนื่อยหอบ
4. ตัวสั่นแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ในช่วงตื่นตระหนก
5. เหงื่อออกมากเกินไป แม้ว่าบรรยากาศแวดล้อมจะไม่ร้อนก็ตาม
6. เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
7. คลื่นไส้ หรือปวดท้อง
8. วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
9. ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกคล้ายจะเป็นไข้
10. กลัวที่จะสูญเสียการควบคุมตัวเอง กลัวที่จะเป็นบ้า และกลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย
โดยขณะเกิดอาการผู้ป่วยมักจะกลัวและรีบไปโรงพยาบาล คิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ หรือโรคร้ายแรงอะไรบางอย่าง ซึ่งแพทย์มักตรวจไม่พบความผิดปกติและมักสรุปว่า เป็นเพียงอาการเครียดหรือคิดมาก ซึ่งผู้ป่วยก็มักจะยอมรับไม่ได้ ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้เครียด และยิ่งทำให้คิดกังวลมากขึ้นว่าสรุปแล้ว ฉันเป็นอะไรกันแน่ ?
 
โรคตื่นตระหนก (แพนิค) สาเหตุเกิดจากอะไร ?
1.     ปัจจัยทางชีวภาพ อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวทำงานผิดปกติ มีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนเปลี่ยนแปลง ทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุล การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติจึงผิดปกติไป รวมถึง อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยบุคคลที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคแพนิคมาก่อน ก็จะมีแนวโน้มเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
2.     ปัจจัยทางด้านจิตใจ ความตึงเครียดในชีวิต ความเครียดกังวลสะสม หรือเคยผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต แล้วได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสีย การผิดหวังอย่างมาก
3.     การมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การทำงานกับคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เป็นระยะเวลานาน การเผชิญความกดดันต้องอยู่ในสภาวะที่เร่งรีบ ไม่ค่อยออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนน้อย การใช้สารเสพติด เหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการแพนิคได้เช่นกัน
 
โรคตื่นตระหนก (แพนิค) มีแนวทางการรักษาอย่างไร ?
1.     การบำบัดจิตใจด้วยการทำจิตบำบัด
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงลบ มีการปรับพฤติกรรมในแง่ลบของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และมีทักษะในการจัดการอารมณ์และทักษะในการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
2.     การใช้ยาทางจิตเวช โดยใช้ยาในกลุ่มคลายกังวล และยาในกลุ่มต้านซึมเศร้า เพื่อปรับความสมดุลของสารเคมีในสมองได้
3.     การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและหมั่นดูแลตัวเอง โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยปรับอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้นได้
4.     การฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รู้จักปล่อยวาง โดยการนั่งสมาธิ หรือการฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อให้จิตใจสงบมากขึ้น
5.     การฝึกจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต เขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับความรู้สึกและชีวิตส่วนตัว เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและความคิดของตัวเองอยู่เสมอ
6.     การสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด ส่งเสริมการสื่อสารที่ดีภายในครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว และพร้อมเผชิญหน้าและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy