แชร์

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)

อัพเดทล่าสุด: 29 ก.ย. 2024
100 ผู้เข้าชม

โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจและมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยก็รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน หมดเวลาไปกับการกระทำดังกล่าวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
 
โรคย้ำคิดย้ำทำ มีอาการอย่างไร ?
อาการของผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ อาการย้ำคิด (Obsession) และอาการย้ำทำ (Compulsion)
1.     อาการย้ำคิด (Obsession) ผู้ป่วยมีความคิด แรงกระตุ้นหรือจินตนาการที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ และคงอยู่นาน โดยความคิดดังกล่าวผุดขึ้นมาในหัวเอง และผู้ป่วยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลและทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยก็พยายามเพิกเฉย เก็บกด หรือลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการคิดหรือการทำสิ่งอื่น ๆ
2.     อาการย้ำทำ (Compulsion) เป็นพฤติกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำอย่างซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองการย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์ที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด โดยการกระทำนี้ทำเพื่อป้องกัน หรือลดความกังวล ความทุกข์ หรือป้องกันเรื่องร้าย ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น
-        ล้างมือบ่อย กังวลว่าจะมีเชื้อโรค กลัวสิ่งสกปรก
-        ทุกอย่างต้องเป๊ะ จัดของเป็นระเบียบและมีสมมาตร
-        ชอบสะสมสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ไม่กล้าทิ้ง
-        กลัวเกิดเหตุอันตราย ตรวจว่าถอดปลั๊กไฟ ล็อคประตูบ่อย ๆ
-        คิดแล้วคิดอีก ตรวจเช็คงานซ้ำ ๆ กลัวทำงานผิดพลาด
-        ถามคำถามซ้ำ ๆ ต้องการความมั่นใจจากคนรอบข้าง
 
โรคย้ำคิดย้ำทำ สาเหตุเกิดจากอะไร ?


1.     ปัจจัยทางชีวภาพ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง รวมถึง ยังพบว่า พันธุกรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
2.     ปัจจัยทางจิตสังคม ผู้ป่วยอาจมีความขัดแย้งในระดับจิตใต้สำนึก และพยายามใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความตึงเครียดในใจแต่ไม่ได้ผล จึงส่งผลให้เกิดการแสดงออกเป็นอาการดังกล่าว


โรคย้ำคิดย้ำทำ มีแนวทางการรักษาอย่างไร ?
1.     การบำบัดจิตใจด้วยการทำจิตบำบัด
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงลบ มีการปรับพฤติกรรมในแง่ลบของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และมีทักษะในการจัดการอารมณ์และทักษะในการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) โดยหลักการคือ ให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกังวลนั้นโดยที่ไม่ต้องตอบสนอง
2.     การใช้ยาทางจิตเวช โดยใช้ยาในกลุ่มคลายกังวล และยาในกลุ่มต้านซึมเศร้า เพื่อปรับความสมดุลของสารเคมีในสมองได้
3.     การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและหมั่นดูแลตัวเอง โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยปรับอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้นได้
4.     การฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลาย รู้จักปล่อยวาง โดยการนั่งสมาธิ หรือการฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อให้จิตใจสงบมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy